วันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ประโยชน์ของแก่นตะวัน

  1. แก่นตะวันมีประโยชน์อย่างไร ? หัวแก่นตะวันจัดเป็นอาหารที่ดีและมีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่รักสุขภาพ เพราะเป็นอาหารเสริมสุขภาพอย่างหนึ่ง เนื่องจากในหัวของแก่นตะวันนั้นอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ มากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งสิ้น เช่น มีวิตามินบีรวม แคลเซียม ธาตุเหล็กที่สูง เป็นต้น
  2. ประโยชน์แก่นตะวัน ช่วยลดกลิ่นปากจากเชื้อแบคทีเรีย
  3. เนื่องจากดอกแก่นตะวัน มีดอกที่สวยงามจึงมีการเพาะปลูกไว้เป็นไม้ประดับ ปลูกเป็นพืชเพื่อการท่องเที่ยว เพื่อเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจได้ เพราะมีความสวยงามไม่แพ้ทุ่งบัวตองหรือทุ่งทานตะวันเลยทีเดียว
  4. หัวใช้รับประทานสดๆ เป็นผัก ซึ่งหัวสดจะมีรสชาติคล้ายๆ กับแห้ว หรือนำมาประกอบอาหารทั้งคาวและหวาน ทำเป็นขนมหรือใช้ต้มรับประทาน หรือนำไปผัดหรือใช้ยำก็ได้เช่นกัน
  5. หัวแก่นตะวันสามารถนำมาใช้เป็นอาหารแทนมันฝรั่งได้ เพราะมีเนื้อสัมผัสเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่ามีรสหวานกว่า จึงเหมาะสำหรับใส่ในสลัดผักต่างๆ
  6. หัวแก่นตะวันสามารถนำมาเป็นผง คือเอาหัวมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ นำมาตากแดดให้แห้งแล้วอบ เมื่ออบเสร็จก็นำมาป่นเป็นผงเล็กๆ ซึ่งผลดังกล่าวสามารถนำไปผสมกับแป้งต่างๆ เป็นผลิตภัณฑ์ได้ เช่น ขนมปัง ขาไก่ คุกกี้ เป็นต้น จะช่วยทำให้มีรสชาติที่ดีและมีกลิ่นหอม แถมยังคงปริมาณของอินนูลินไว้ได้อีกด้วย
  7. มีการนำหัวแก่นตะวันมาสกัดเอาสารอินนูลิน ใช้ผสมในผลิตภัณฑ์นมผงเด็ก โดยจะมีสารอินนูลินผสมอยู่ด้วยราว 1-2% ซึ่งหลายๆ คนอาจจะไม่ได้สังเกต
  8. หัวแก่นตะวัน ใช้เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นสุราและเอทานอลได้ ซึ่งในประเทศเยอรมัน รัฐบาเดิน-เวือร์ทเทมแบร์ก จะมีการใช้หัวแก่นตะวันในการผลิตสุรากันมากกว่า 90% ซึ่งสุราชนิดนี้ก็คือ Topi หรือ Rossler
  9. ลำต้นแก่นตะวัน ก็สามารถนำไปหมักทำเป็นเอทาอลได้เหมือนกัน
  10. ลำต้นและใบของแก่นตะวัน สามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ และยังมีสารอาหารที่ช่วยในการย่อยได้หมดมากกว่าถั่วอัลฟัลฟา (แต่จะมีโปรตีนน้อยกว่า)
  11. หัวใช้เป็นอาหารเสริมในสัตว์เลี้ยงได้ เพราะมีผลต่อการเจริญเติบโต ทำให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพแข็งแรง ช่วยลดจุลินทรีย์ที่เป็นโทษในระบบทางเดินอาหาร ช่วยลดกลิ่นเหม็นของมูลสัตว์ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้สัตว์เลี้ยง จึงช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะไปด้วยในตัว จึงถูกมีการนำมาใช้เป็นสมุนไพรของสัตว์เลี้ยง
  12. การเสริมสารสกัดอินนูลินลงไปในอาหารของสัตว์ เช่น สุนัข สุกร ไก่ จะช่วยปริมาณของแอมโมเนียในระบบทางเดินอาหารและในสิ่งขับถ่ายได้ จึงช่วยทำให้ลดปริมาณของสารที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นในสิ่งขับถ่าย ทำให้กลิ่นเหม็นของอุจจาระลดลงอย่างมากจนถึงไม่มีกลิ่นเลย
  13. ในเชิงอุตสาหกรรม มีการใช้หัวแก่นตะวันมาเป็นวัตถุดิบในการสกัดเป็นน้ำตาลอินนูลิน (Inulin) เพราะสามารถพบได้ในพืชชนิดนี้มากถึง 16-39% และยังมีการใช้อินนูลินเพื่อผลิตเป็นน้ำตาลเชื่อมฟรุคโตสเข้มข้น หรือสารให้ความหวานในอุตสาหกรรมอาหาร
  14. แก่นตะวันเป็นพืชที่ให้พลังงานสูง หัวสด 1 ตัน สามารถใช้ผลิตเป็นเอทานอลบริสุทธ์ 99.5% ได้มากถึง 100 ลิตร สามารถใช้เป็นพลังงานทดแทนด้วยการนำไปใช้ผสมกับน้ำมันเบนซิน ใช้ผลิตแก๊สโซฮอล์ได้อีกด้วย
  15. แก่นตะวันเป็นพืชเศรษฐกิจที่กำลังได้รับความนิยม เพราะสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ผลิตภัณฑ์แก่นตะวัน เช่น แก่นตะวันแบบบรรจุถุง แก่นตะวันบดผง แก่นตะวันอบแห้ง ชาแก่นตะวัน ว่านแก่นตะวันแคปซูล สบู่แก่นตะวัน เป็นต้น
สมุนไพรแก่นตะวัน

วิธีกินแก่นตะวัน

  • แก่นตะวันสามารถรับประทานได้ทั้งแบบปอกเปลือกและไม่ปอกเปลือก แต่การรับประทานทั้งเปลือกก็ควรล้างให้สะอาดก่อน เนื่องจากมีแง่งเยอะอาจจะเศษดินติดอยู่ หรือจะแช่น้ำไว้สักพักเพื่อให้ดินอ่อนตัวก่อนนำมาล้างก็ได้ ถ้าจะให้ดีก็ใช้แปรงสีฟันเล็กๆ นำมาขัดอีกรอบเพื่อความสะอาด
  • สำหรับวิธีการปอกเปลือกแก่นตะวัน ก็ใช้วิธีเดียวกันกับการปอกเปลือกมะม่วง โดยใช้มีดสองคมขนาดเล็ก (ด้ามสีส้มที่เราคุ้นเคยกันดี) ในการปอกเปลือก ถ้ามีแง่งก็ให้ใช้มีดตัดออกมาก่อนแล้วค่อยปอก
  • สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยรับประทาน ควรรับประทานในปริมาณที่ไม่มากก่อนในช่วงแรก หรือทานสดครั้งละ 1 ขีด เพื่อให้ร่างกายได้ปรับสภาพก่อน
  • สำหรับการเก็บรักษา สำหรับแก่นตะวันแบบปอกเปลือก ก็ให้เก็บไว้ในกล่องพลาสติกที่ปิดฝามิดชิดไม่ให้อากาศเข้า หรือจะใส่ถึงซิป กล่องพลาสติกก็ได้ แล้วนำไปแช่ในตู้เย็นช่องธรรมดา ก็จะช่วยทำให้คงความสดและไม่ทำให้เหี่ยวเร็ว
  • แก่นตะวันที่ไม่ปอกเปลือก สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้นานถึง 10 สัปดาห์ หรือมากกว่าถ้าไม่มีเชื้อรา แต่หากเก็บไว้นานสีอาจจะเปลี่ยนหรือเหี่ยวทำให้ดูไม่น่ารับประทาน ยิ่งเก็บไว้นานคุณภาพก็ยิ่งน้อยลง การรับประทานแบบสดใหม่จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
  • การใช้หัวแก่นตะวันในการประกอบอาหาร อาจพบว่าสีของหัวเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีดำคล้ำ สาเหตุอาจมาจากการปอกเปลือกทิ้งไว้นาน ดังนั้นเมื่อปอกเปลือกหรือหั่นเสร็จแล้วให้เก็บแช่ทิ้งไว้ในน้ำเปล่าก่อนที่จะนำไปประกอบอาหาร ช่ะช่วยป้องกันปัญหาดังกล่าวได้
แหล่งอ้างอิง : คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (รองศาสตราจารย์ ดร.สนั่น จอกลอย), สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล (ดร.ครรชิต จุดประสงค์), สถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 132, นิตยสารขวัญเรือน ฉบับ 849 (พญ.ลลิตา ธีระสิริ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น