วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557

เรื่องน่ารู้ของผักกะสัง

เรื่องน่ารู้ของผักกะสัง : ผักเมนูสุขภาพ สมุนไพร รักษาฝี แก้ปวด ยาสระผม

สมัยเด็กๆ จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าเคยกินผักกะสังกับน้ำพริก บางทีก็ลวกกิน บางทีก็กินสดๆ แต่สิ่งที่ทำให้จำผักกะสังได้อย่างแม่นยำคือ ในสมัยที่ยังเรียนอยู่ชั้นประถม จำได้ว่าคุณครูนำพืชต้นเล็กๆ ลำต้นใสๆ เข้ามาในห้อง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสอนและให้เราเรียนรู้ถึงกระบวนการดูดน้ำของพืช แต่ในวันนั้นต้นพืชใสๆ ผู้เสียสละต้องดูดน้ำหมึกแทนน้ำธรรมดา เพื่อให้นักเรียนทั้งชั้นได้เห็นเส้นทางน้ำหมึกค่อยๆ เคลื่อนที่ไปตามลำต้นใสๆ นั้น แต่หลังจากนั้นก็ไม่ค่อยได้เจอะเจอผักกะสังบ่อยนัก รู้แต่ว่าเป็นยาทาฝี ยาแก้อักเสบของหมอยาหลายคน
ผักกะสังกลับมาให้คนได้รับรู้อีกครั้งเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากการที่ไปส่งเสริมการปลูกวัตถุดิบสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ที่บ้านดงบัง ตำบลดงขี้เหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ชุมชนที่นี่มีภูมิปัญญามากมายในการใช้สมุนไพรและการกินผักพื้นบ้าน แต่เมื่อมีการปลูกพืชตามระบบเคมีทำให้ผักพื้นบ้านหลายชนิดหายไป และไม่กล้าเก็บผักรอบบ้านหรือตามหัวไร่ปลายนามากินอีก เพราะรู้ว่าเพิ่งฉีดยาฆ่าหญ้าหรือยาฆ่าแมลงไป เมื่อหันมาปลูกวัตถุดิบสมุนไพรเกษตรอินทรีย์ ผักพื้นบ้านหลายชนิดกลับมางอกงาม พวกเขากล้าเก็บผักพื้นบ้านมากินไม่ต้องเสียเงินซื้อผักจากตลาดอีก ผักกะสัง เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น
ผักกะสังมีรสเผ็ดหอม มีสรรพคุณทางหยาง (จัดแบ่งง่ายๆ ว่า หยินคือเย็น หยางคือร้อน) เรื่องรสยาเผ็ดหอมนี้ ยังพออธิบายได้อีกมุมมองหนึ่งว่า ผักกะสังกับพริกไทยนั้นเป็นพี่น้องกัน มีคนลองนำเอาผักกะสังมาขยายใหญ่ให้เท่าต้นพริกไทย มองใบสีเขียวใสๆ ให้เป็นสีเขียวเข้ม ก็จะเห็นหน้าตาผักกะสังเหมือนกับต้นพริกไทย นอกจากนี้ถ้าได้กินผักกะสังที่ยังมีเมล็ดเกาะกันเป็นช่อ คล้ายช่อเมล็ดพริกไทย ก็จะได้ลิ้มรสเผ็ดนิดๆ ซ่าน้อยๆ ที่ลิ้น ผักกะสังเป็นผักสมบูรณ์แบบชนิดหนึ่งทั้งรสชาติ รูปร่างหน้าตาโดยนำมากินสดๆ หรือลวกกินกับน้ำพริก กินเป็นสลัด หรือยำกินก็ได้ หรือนำมาจัดเป็นแจกันผักขนาดเล็กเป็นผักแกล้มบนโต๊ะกินข้าวก็น่าชมไม่น้อย
ผักกะสังถือว่าเป็นผักต้านมะเร็งชนิดหนึ่ง เนื่องจากมีการศึกษาวิจัยในปัจจุบันพบว่า ผักกะสังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและมีวิตามินซีสูง เรียกได้ว่าวิตามินซีน้องๆ มะนาว คือมะนาว ๑๐๐ กรัม มีวิตามินซี ๒๐ มิลลิกรัม ส่วนผักกะสังมีอยู่ ๑๘ มิลลิกรัม รวมทั้งทางสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เคยวิเคราะห์หาธาตุอาหารในพืชผักต่างๆ พบว่าผักกะสัง ๑ ขีด หรือ ๑๐๐ กรัม มีเบต้าแคโรทีน ราว ๒๘๕ ไมโครกรัมเทียบหน่วยเรตินัล การที่ผักกะสังมีธาตุอาหารต้านมะเร็งอยู่สูงขนาดนี้ ผักกะสังจึงจัดว่าเป็นผักต้านมะเร็งชนิดหนึ่ง
“ยำผักกะสัง” โด่งดังขึ้นจากการที่หมู่บ้านดงบังต้องการให้คนเข้าไปชมวิถีการผลิตระบบเกษตรอินทรีย์ จึงได้พัฒนาตนเองเพื่อเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว ได้มีการค้นหาเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน สิ่งที่พวกเขาเชี่ยวชาญนอกจากการปลูกต้นไม้แล้ว แม่บ้านของชุมชนนี้ทำอาหารอร่อยมาก เช่น แกงบอน แกงปลาดุกใส่ไพลดำ ยำผักกะสังและตำรับอาหารอื่นๆ อีกมากมาย แต่เมื่อเปิดตลาดออกไปอาหารที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือยำผักกะสัง มีสื่อมวลชนมากมายไปชิมและนำสูตรมาเผยแพร่ ปัจจุบันสูตร “ยำผักกะสัง” ของหมู่บ้านดงบังเป็นที่รู้จักกันดี ไม่มีการจดสิทธิบัตร ใครจะเชื่อว่าผักกระสังเป็นพืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกาใต้ แต่ได้นำมาปลูกในประเทศที่มีอากาศร้อนทั่วๆ ไปรวมทั้งประเทศไทย แต่เราลืมมันไปจากกลไกผักตลาดที่ผลิตแบบเคมี ต้องขอบคุณชาวบ้านดงบังที่ทำให้ผักกระสัง กลับมาสู่สังคม



ผักกะสัง...รักษาโรคลักปิดลักเปิด

ในตำรายาไทยระบุไว้ว่าใบของผักกะสังใช้ในการรักษาโรคลักปิดลักเปิด ซึ่งพอจะอธิบายได้ว่า ในผักกะสังมีวิตามินซีและสารอาหารสูง ซึ่งการรักษานั้นใช้ทั้งการกินและการบดต้นแปะบริเวณที่เลือดออกตามไรฟัน


ผักกะสัง…รักษา เริม ฝี มะเร็งเต้านม

หมอยาพื้นบ้านของไทยใช้ผักกะสังเป็นยาไม่มากนักส่วนใหญ่ใช้พอกฝีและสิวโดยใช้ต้นสดตำพอกฝี หรือใช้น้ำคั้นทาสิว ในต่างประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ใช้ทั้งต้นสดบดประคบฝี หรือตุ่มหนอง และโรคผิวหนังอื่นๆ เช่นกัน ซึ่งจากการศึกษาสมัยใหม่พบว่าผักกระสังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านแบคทีเรียหลายชนิด ทั้งยังมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ ซึ่งจะช่วยกำจัดเนื้อตายทำให้ฝีแตกได้ง่าย และสิวยุบเร็วขึ้น
“ผักกะสังรักษาเริมและมะเร็งเต้านม” ความรู้นี้ไม่ค่อยแพร่หลายนักแต่แมะ (มือลอ มะแซ) ที่บ้านกำปงบือแน ตำบลจะกว๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลาบอกว่า ผักกะสังเป็นยารักษาเริม มะเร็งเต้านม และฝี ในการรักษาเริมนั้นจะนำต้นผักกะสังผสมกับขมิ้นและข้าวสาร (ฮูยงงูกุมาตอกูยิ) ตำให้ละเอียดแล้วพอกทิ้งไว้ ๑ คืน และนำใบมาตำขยำแปะทาเม็ดที่เป็นใต้ราวนม แก้มะเร็งเต้านม ข้อมูลที่ว่าผักกะสังใช้รักษามะเร็งนี้ไม่เคยรู้มาก่อนเลยและเป็นที่น่าทึ่งตรงที่ว่ามีรายงานการศึกษาพบว่า สารในผักกะสังมีฤทธิ์ต้านมะเร็งด้วย นอกเหนือไปจากการแก้อักเสบและแก้ปวด



ผักกะสัง…แก้อักเสบ ข้ออักเสบ เก๊าท์

หมอยาพื้นบ้านบางคนบอกว่ากินผักกะสังแก้ปวดข้อ ซึ่งในประเทศฟิลิปปินส์มีการกินผักกะสังสดๆ หรือนำมาต้มกิน เพื่อรักษาโรคเก๊าท์และข้ออักเสบ โดยนำผักกะสังต้นยาวสัก ๒๐ เซนติเมตร ต้มกับน้ำ ๒ แก้ว ให้เหลือประมาณ ๑ แก้ว แบ่งรับประทานครั้งละ ครึ่งแก้ว เช้า-เย็น ปัจจุบันผักกะสังเป็นสมุนไพรตัวหนึ่งที่ฟิลิปปินส์กำลังศึกษาวิจัยเพื่อใช้เป็นยารักษาโรคข้ออักเสบรวมทั้งโรคเก๊าท์จากการที่ผักกระสังสามารถลดปริมาณกรดยูริคในกระแสเลือด


ผักกะสัง…บำรุงผิว บำรุงผม

ผักกะสังยังเป็นสมุนไพรสำหรับผู้หญิงอีกชนิดหนึ่งนอกจากใช้รักษาสิวแล้ว สาวๆ สมัยก่อนยังใช้น้ำต้มผักกะสังล้างหน้าบ่อยๆ จะทำให้ผิวหน้าสดใส และนอกจากนี้ คุณสารีป๊ะ อาแวกือจิ ที่บ้านกำปงบือแน ตำบลจะกวั๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา บอกว่าผักกะสังเป็นยาสระผมทำให้ผมนุ่มโดยนำใบขยำกับน้ำชโลมศีรษะให้ศีรษะเย็น ป้องกันผมร่วง ทำให้ผมนุ่ม ซึ่งอธิบายได้ว่าผักกะสังมีธาตุอาหาร มีความเป็นกรดอ่อนๆ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อราและแบคทีเรีย


ข้อควรระวัง
ในผู้ที่แพ้พืชที่มีกลิ่นฉุนประเภท mustard (พืชที่เป็นเครื่องเทศทั้งหลาย) ไม่ควรรับประทาน



สูตรยำผักกะสัง

ยำผักกะสัง ทำได้ง่ายๆ หั่นผักชิ้นพอประมาณ ๑-๒ ทัพพี น้ำมะนาว ๑-๒ ช้อนโต๊ะ กุ้งแห้ง ๑-๒ ช้อนโต๊ะ พริกขี้หนูแห้งทอดพอประมาณ มะม่วงซอย ๑-๒ ช้อนโต๊ะ หัวหอมซอยพอประมาณ แครอทซอยฝอยๆ ๑-๒ ช้อนโต๊ะ ถั่วลิสงคั่วพอประมาณ ขิงซอย ๑-๒ ช้อนโต๊ะ หมูหยอง พอประมาณ โหระพา สะระแหน่ ไว้แต่งรส น้ำปลา ๑-๒ ช้อนโต๊ะ น้ำตาลทราย ๑-๒ ช้อนโต๊ะ จากนั้นรวมเครื่องปรุงทุกอย่างเข้าด้วยกัน ปรุงรสตามใจชอบ พร้อมตักเสิร์ฟได้เลย
ในยุคน้ำมันแพง แต่ไม่แล้งปัญญา หากเข้าใจธรรมชาติ นำผักกะสังที่ขึ้นได้ทั่วไป และมีสรรพคุณทางยามากมาย นำมาเป็นอาหารสุขภาพรสเด็ด ประหยัดทั้งเงิน ยังเสริมสร้างสุขภาพอีกด้วย


ผักกะสังเป็นสมุนไพรที่มีประวัติการใช้เป็นยามากมาย ในโบลิเวียมีบันทึกที่มีอายุนับพันปีชื่อ Altenos Indians document กล่าวไว้ว่า ผักกะสังทั้งต้นบดผสมน้ำใช้กินเพื่อห้ามเลือด ใช้ส่วนรากต้มกินรักษาไข้ ใช้ส่วนเหนือดินโปะแผล นอกจากนี้ ในประเทศอื่นๆ ที่มีผักกะสังขึ้นอยู่จะใช้ผักกะสังในการรักษาอาการปวดท้องทั้งแบบธรรมดาและปวดเกร็ง ฝี สิว แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก อ่อนเพลีย ปวดหัว ระบบประสาทแปรปรวน หัด อีสุกอีใส มีแก๊สในกระเพาะ ปวดข้อรูมาติก และยังมีการใช้เฉพาะบางท้องถิ่นเช่น ในบราซิลใช้ในการลดคอเลสเตอรอล ในกียานา (Guyana) ใช้ในการขับปัสสาวะ ลดไข่ขาวในปัสสาวะ ในแถบอเมซอนใช้ขับปัสสาวะ หล่อลื่น หัวใจเต้นผิดปกติ ส่วนในมาเลเซียเชื่อว่าการรับประทานผักกะสังจะช่วยรักษาโรคตาและต้อ (glaucoma) ปัจจุบันมีสารสกัดจากผักกะสังจำหน่ายในต่างประเทศ

วันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2557

เมื่ออากาศร้อน ควรจะกินอะไรดี?

สุดยอดสมุนไพรที่จะแนะนำนี้ คือ คุณอบเชยหรือ คุณซินนามอน (Cinnamon)  นั่นเอง
อบเชย เป็นเปลือกไม้ชนิดหนึ่ง สามารถนำไปบดเป็นผงละเอียด หรือนำไปต้มน้ำเคี่ยวให้งวดเป็นน้ำอบเชย  แล้วนำไปปรุงเป็นอาหารรับประทาน

คนญี่ปุ่นเชื่อว่าช่วยลดความดันโลหิตให้ต่ำลงได้
คนอเมริกันเชื่อว่าผงอบเชยไปส่งเสริมการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินให้ใช้น้ำตาลกลูโคส  จึงมีส่วนช่วยในการควบคุมระดับน้ำตาลได้

คนไทยโบราณมีความเชื่อว่า  อบเชยหรือเปลือกของต้นอบเชยเป็นสมุนไพรรสเผ็ดหวาน ช่วยแก้พิษร้อน แก้ลมอัมพาต ใช้ปรุงเป็นยาหอม ยานัตถุ์ ทำให้สดชื่น แก้อ่อนเพลีย แก้อาการแน่นท้องจุกเสียด  รักษาแผลในกระเพาะอาหาร  แก้ท้องร่วง  ขับปัสสาวะ  ช่วยในการย่อยสลายไขมัน

คนจีนโบราณมีความเชื่อว่า การนำอบเชยกับน้ำไปเคี่ยวเป็นน้ำยาเข้มข้น มีสรรพคุณในการบำรุงกำลัง  สร้างความอบอุ่นแก่กระเพาะอาหารและม้าม  ระงับอาการปวดถ่วง  ช่วยให้เลือดลมเดินสะดวก  นอกจากนั้นน้ำอบเชยยังช่วยกระตุ้นระบบประสาทให้คึกคัก  กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ทำให้ร่างกายอบอุ่น  ช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น  แก้อาการเกิดตะคริวในกระเพาะอาหารและลำไส้เป็นต้น
การรับประทานอบเชยที่เราคุ้นเคยกันดีจากขาหมูต้มพะโล้ หรือหมูสามชั้นต้มเค็มแล้ว  เรายังเคยเห็นคนนำผงอบเชยโรยในกาแฟบ้าง ผสมในขนมนานาชนิดบ้าง
แต่เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงยังไม่เคยลองรับประทานข้าวต้มผสมอบเชย  ซึ่งถ้าใครได้รู้จักสรรพคุณของข้าวต้มผสมอบเชย  คงอยากจะลิ้มลองดูสักครั้งเป็นแน่แท้

สรรพคุณของข้าวต้มผสมอบเชย
  1. เหมาะสำหรับผู้ที่กระเพาะอาหารไม่มีแรง, ปวดกระเพาะอาหาร,  เบื่ออาหาร,  อุจจาระเหลว, อาเจียน,  ลำไส้มีเสียงโครกคราก,  ท้องขึ้น,  อาหารไม่ย่อย
  2. หรือเหมาะสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคไขข้อ,  ปวดหลัง, ปวดกระดูก
วิธีทำ
สูตร  1  ต้มข้าวต้มให้สุก  ใส่น้ำอบเชยและน้ำตาลทรายแดงพอสมควร  ชิมแล้วอร่อยเป็นใช้ได้

สูตร  2  ต้มข้าวต้มให้สุก  โดยใช้ข้าวจ้าวประมาณ  30-60  กรัม  แล้วโรยผงอบเชยใส่ประมาณ 1-2 กรัม  ก็เป็นอันใช้ได้ (สูตรนี้ไม่ต้องใส่น้ำตาลทรายแดง)

จากหนังสือ 'เปิดตู้เย็น เป็นตู้ยา' โดย อ.สุทธิวัสส์ คำภา.


ปอบิด พิชิตสรรพโรคได้จริงหรือ?

รองศาสตราจารย์ รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล
ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ถ้ามีใครเดินไปตามร้านขายผัก หรือสมุนไพรในขณะนี้ คงไม่มีใครไม่เห็นสมุนไพรที่เรียกกันว่า ปอบิด วางขายอยู่ทั่วไปพร้อมทั้งมีใบปลิวแนบสรรพคุณมากมาย ตั้งแต่ รักษาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ลดน้ำหนัก แก้เหน็บชา ชาปลายมือปลายเท้า ภูมิแพ้ ไทรอยด์ ปวดข้อ เข่า หลัง รวมถึง ไมเกรน บำรุงตับ ไต และใช้ได้ในโรคเรื้อรังทุกชนิด รวมถึงระบบของสตรี ด้วยวิธีการเตรียมที่ง่าย สะดวก โดยการต้ม และมีรสชาติที่ดื่มง่าย ดังนั้นมีผู้คนจำนวนมากเริ่มสนใจ และใช้มัน และมีหลายคนที่ตั้งคำถามที่ว่ามันใช้ได้จริงหรือ และปลอดภัยหรือไม่ 
          ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักกับปอบิดก่อน ปอบิดมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Helicteres isora L. เป็นพืชในวงศ์ Sterculiaceae มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นมากมาย เช่น ปอกะบิด ปอทับ มะปิด มะบิด (พายัพ) ขี้อ้นใหญ่ ปอลิงไซ (ภาคเหนือ) ลูกบิด (ไทยภาคกลาง) ซ้อ (กะเหรี่ยง เชียงใหม่) เซ้าจี (สระบุรี) เป็นพืชที่ขึ้นเองตามริมป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ที่รกร้าง แม้กระทั่งในบริเวณกรุงเทพมหานคร พบได้ทั่วไปทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และอินเดีย ลักษณะเป็นไม้พุ่ม สูงไม่มากประมาณ 1-2 เมตร มีขนสีน้ำตาล ใบเดี่ยว รูปไข่กว้าง ขอบใบหยัก เมื่อลูบผิวใบรู้สึกสากคาย ออกดอกปีละครั้ง ช่วงเวลาอาจแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นและภูมิอากาศ ตามบันทึกขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ ออกดอกและติดผลประมาณเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม แต่ตัวผู้เขียนเองเคยพบที่สระบุรี ออกดอกช่วงฤดูร้อน ประมาณเดือนเมษายน กลีบดอกสีส้มอิฐ เป็นหลอด เมื่อติดฝัก เป็นฝักยาว 3-4 ซม. บิดเป็นเกลียวคล้ายเชือกขวั้น เมื่อแก่จะแตก มีสีน้ำตาลดำ1 จากข้อมูลในตำรายาไทย ใช้เปลือกต้นและราก บำรุงธาตุ ผล ใช้แก้บิด (สันนิษฐานว่าตามรูปร่างของผล) แก้ปวดเบ่ง(อันเนื่องมาจากบิด) ท้องเสีย ขับเสมหะ ตำพอกแก้ปวดเคล็ดบวม2,3 
          ในประเทศอินเดียใช้ผลแก้ท้องเสียเช่นเดียวกัน และมีการทดลองพบว่าสารสกัดด้วยน้ำมีฤทธิ์ที่ดีในการยับยั้งเชื้ออีโคไล ที่เป็นเชื้อสาเหตุของอาการท้องเสียทั่วไป และให้ผลดีกับเชื้อ Salmonella typhimurium ซึ่งเป็นเชื้อสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระเพาะอาหารหรือลำไส้อักเสบอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีผลปานกลางต่อเชื้อไข้ไทฟอยด์ (Salmonella typhi)ซึ่งมีอาการไข้ร่วมกับท้องเสียอื่น4 และมีผลยับยั้งการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเรียบ5ถึงแม้งานวิจัยนี้จะสอดคล้องการใช้ในโรคท้องเสีย ขนาดที่ใช้ในคนก็ยังระบุไม่ได้ชัดเจนนัก 
          การศึกษาวิจัยประสิทธิภาพของปอบิดในโรคอื่นที่น่าสนใจ ได้แก่ โรคเบาหวาน พบว่าสารสกัดน้ำจากผลปอบิดมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในหนูขาวที่ทำให้เป็นเบาหวาน และป้องกันไม่ให้ระดับไขมันสูงขึ้นซึ่งมักพบตามมาหลังจากการเป็นเบาหวาน ฤทธิ์ของสารสกัดคล้ายกับยาไกลเบนคลาไมด์6 การทดลองในเซลล์เพาะเลี้ยงพบว่าเพิ่มการขนส่งน้ำตาลเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อของหนู7 และเพิ่มการขนส่งน้ำตาลเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อกระบังลมแต่มีประสิทธิภาพน้อยกว่ายาเมทฟอร์มิน8 อย่างไรก็ดีการทดลองเหล่านี้แม้จะสรุปได้ว่าสารสกัดน้ำจากผลปอบิด น่าจะมีผลลดน้ำตาลในเลือดได้ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะระบุขนาดที่ใช้ และยังไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนยารักษาเบาหวานได้จริง จำเป็นต้องมีการทดลองเพิ่มเติมต่อไปทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความเป็นพิษ เนื่องจากปอบิดไม่ใช่พืชอาหาร การทดลองเพื่อหาความเป็นพิษเมื่อใช้ระยะยาวเป็นอีกงานวิจัยที่สำคัญ อนึ่งพบว่าสมุนไพรจำนวนไม่น้อยที่มีรายงานความเป็นพิษต่อตับและไต หากรูปแบบหรือขนาดที่ใช้ไม่ถูกต้อง ในกรณีที่ยังมีข้อมูลไม่ครบเช่นนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการเลือกใช้ด้วยตนเอง หรือได้ทดลองใช้แล้ว ให้ตรวจภาวะการทำงานของตับไตอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน และห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติ หรือแม้แต่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคตับ หรือโรคไต 
          สำหรับโรคอื่นๆที่กล่าวอ้างถึงนั้น ยังไม่พบการวิจัยที่พิสูจน์ฤทธิ์ดังกล่าว อีกทั้งโรคเรื้อรังต่างๆที่กล่าวอ้างนั้น ไม่ได้มีข้อมูลการใช้แผนโบราณสนับสนุน ดังนั้นจึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจเลือกใช้
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม.http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/search_detail.asp?Botanic_ID=1187
  2. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/ Accessed on May 14h, 2013.
  3. เสงี่ยม พงษ์บุญรอด. ไม้เทศเมืองไทย. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ, 2508.
  4. Tambekar DH, Khante BS, Panzade BK, Dahikar S, Banginwar Y. Evaluation of phytochemical and antibacterial potential of Helicteres isora L. fruits against enteric bacterial pathogens. Afr J Tradit Complement Altern Med. 2008;5(3): 290-3.
  5. Pohocha N, Grampurohit ND. Antispasmodic activity of the fruits of Helicteres isora Linn. Phytother Res. 2001 Feb;15(1):49-52.
  6. Boopathy Raja A, Elanchezhiyan C, Sethupathy S. Antihyperlipidemic activity of Helicteres isora fruit extract on streptozotocin induced diabetic male Wistar rats. Eur Rev Med Pharmacol Sci. 2010 Mar;14(3):191-6.
  7. R. N. Gupta, Anil Pareek, Manish Suthar, Garvendra S. Rathore, Pawan K. Basniwal, and Deepti Jain. Study of glucose uptake activity of Helicteres isora Linn. fruits in L-6 cell lines. Int J Diabetes Dev Ctries. 2009 Oct-Dec; 29(4): 170–173.
  8. Suthar M, Rathore GS, Pareek A. Antioxidant and Antidiabetic Activity of Helicteres isora (L.) Fruits. Indian J Pharm Sci. 2009 Nov; 71(6): 695-9.